ผลทดสอบการรับน้ำหนักของเสาเข็มโดยวิธี Dynamic Load Test
การทดสอบกำลังรับน้ำหนักบรรทุกของเสาเข็มแบบพลศาสตร์ (Dynamic Pile Load Test) เป็นการทดสอบเสาเข็มเดี่ยวหรือฐานรากลึกชนิดอื่นที่มีลักษณะการรับน้ำหนักเหมือนกัน โดยใช้แรงกระแทกที่หัวเสาเข็มในทิศทางตามแนวแกนแล้วนำผลตอบสนองที่วัดได้ ซึ่งอย่างน้อยได้แก่ แรงหน้าตัดและความเร็วอนุภาคของเสาเข็มไปวิเคราะห์ตามหลักทฤษฎีคลื่นหน่วยแรง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
การทดสอบมีวัตถุประสงค์เพื่อ
(1) การพิสูจน์กำลังรับน้ำหนักบรรทุกของเสาเข็ม ทั้งนี้การพิสูจน์ดังกล่าวจะกระทำได้ก่อนหรือหลังจากการตรวจประเมินความน่าเชื่อถือโดยการสอบเทียบกับวิธีการทดสอบบรรทุกเสาเข็มแบบสถิตยศาสตร์แล้ว
(2) การตรวจวัดคุณสมบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของเสาเข็มภายใต้แรงกระทำเชิงพลวัต1
(3) การประเมินความสามารถของอุปกรณ์ตอกเสาเข็ม2
(4) การควบคุมการก่อสร้างเสาเข็มโดยเฉพาะในกรณีที่สภาพชั้นดินไม่สม่ำเสมอ
นิยาม
“การทดสอบ” หมายถึง การทดสอบการรับน้ำหนักของเสาเข็มด้วยวิธีพลศาสตร์ (Dynamic Pile Load Test)
“การตอกใหม่ (Re drive)” หมายถึง การตอกเสาเข็มใหม่หลังจากการหยุดตอกชั่วคราว หรือหลังจากที่ตอกเสาเข็มเสร็จแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง
“การตอกซํ้า (Re strike)” หมายถึง การตอกเสาเข็มต้นเดิมหลังจากทิ้งไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การรบกวนดินที่เกิดขึ้นเนื่องจากการตอกครั้งก่อนลดน้อยลงไปโดยระยะที่ทิ้งไว้เพื่อการดังกล่าวมีค่าแตกต่างกันไปตามชนิดของดินและวิธีการก่อสร้างเสาเข็ม3
“การทรุดตัวสุทธิ (Net Settlement, Pile Set)” หมายถึง การทรุดตัวถาวรที่เกิดภายหลังจากการตอกเสาเข็ม
--------------------------------------------------------------
1เช่น การวิเคราะห์หน่วยแรงที่เกิดขึ้นในโครงสร้างเสาเข็มตอกขณะก่อสร้าง การทดสอบเพื่อหาความสมบูรณ์ ของเสาเข็มที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ การประเมินแรงต้านทานเชิงพลวัตของดิน การประเมินแรงหน่วงของโครงสร้างเสาเข็ม ฯลฯ
2 เช่น การประเมินความสามารถในการตอกของเสาเข็มตอก การประเมินประสิทธิภาพของอุปกรณ์ตอกเสาเข็ม
3 ระยะที่ทิ้งไว้สำหรับประเทศไทยโดยทั่วไปมีค่าประมาณ 7 วันสำหรับเสาเข็มตอกและ 21 วันขึ้นไปสำหรับเสาเข็มหล่อในที่